สมาคมนักบริหารพัสดุแห่งประเทศไทย

ขอเชิญเข้าร่วมการสัมมนาทางวิชาการ

เรื่อง “การจัดซื้อจัดจ้างและบริหารพัสดุ…สำหรับนักพัสดุมือใหม่”รุ่นที่ 1/2568

ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ระบบออนไลน์ (ZOOM)

ระหว่างวันที่ 14 – 15 มกราคม 2568

ค่าลงทะเบียน 2,500 บาท ลงทะเบียนได้ตั้งแต่วันนี้ – 10 มกราคม 2568

หลักการและเหตุผล

         การจัดซื้อจัดจ้าง เพื่อให้ได้มาซึ่งพัสดุของหน่วยงานของรัฐไม่ว่าจะเป็น สินค้า งานบริการ งานก่อสร้าง งานจ้างที่ปรึกษาและงานจ้างออกแบบหรือควบคุมงานก่อสร้างรวมทั้งการดำเนินการอื่นๆ ไม่ว่าจะดำเนินการโดยวิธีซื้อ จ้าง เช่า  แลกเปลี่ยน หรือโดยนิติกรรมอื่นๆ ล้วนต้องดำเนินการโดยใช้เงินงบประมาณแผ่นดิน หรือเงินงบประมาณของหน่วยงานของรัฐที่มีวงเงินค่อนข้างสูงซึ่งผู้มีหน้าที่ดูแลรับผิดชอบหลักในการจัดซื้อจัดจ้างและใช้เงินงบประมาณก็คือ “เจ้าหน้าที่” ผู้มีหน้าที่เกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างหรือการบริหารพัสดุ หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายจากผู้มีอำนาจให้ปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างหรือการบริหารพัสดุของหน่วยงานของรัฐ และ “หัวหน้าเจ้าหน้าที่”       ผู้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าสายงานซึ่งปฏิบัติงานเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างหรือการบริหารพัสดุตามที่กฎหมายเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลของหน่วยงานของรัฐนั้นกำหนด  หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายจากหัวหน้าหน่วยงานของรัฐให้เป็นหัวหน้าเจ้าหน้าที่ ทั้ง “เจ้าหน้าที่” และ “หัวหน้าเจ้าหน้าที่ ” จะสามารถปฏิบัติงานในหน้าที่รับผิดชอบให้เป็นไปอย่างถูกต้อง โปร่งใสเป็นธรรม  มีประสิทธิภาพประสิทธิผล ใช้เงินงบประมาณได้อย่างคุ้มค่า ผู้ปฏิบัติงานในฐานะ “เจ้าหน้าที่” และ “หัวหน้าเจ้าหน้าที่” ต้องมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับวงจรและกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุของหน่วยงานภาครัฐ หรือที่รับรู้กันโดยทั่วไปว่า “งานพัสดุ” นั้น มีงานอะไรบ้างที่อยู่ในความรับผิดชอบดำเนินการ ของตนตั้งแต่ขั้นตอนเริ่มต้นจนถึงขั้นตอนที่ถือว่าสิ้นสุดภารกิจงานที่ตนเองดูแลรับผิดชอบ และต้องทำอะไรบ้างที่อยู่นอกเหนือหน้าที่ และจะต้องรู้ด้วยว่าในการปฏิบัติหน้าที่ของตนต้องยึดถือปฏิบัติตามกฎหมายและระเบียบใดบ้าง ซึ่งกฎหมายและระเบียบหลักๆ ที่ต้องรู้ก็คือ  พระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 กฎกระทรวง  และระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560  ประกาศ และหนังสือเวียนซ้อมความเข้าใจเกี่ยวกับแนวทางวิธีปฏิบัติในเรื่องต่างๆ ที่มีทั้งการกำหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนไขให้ต้องปฏิบัติ หรือที่ยกเว้นผ่อนผันการปฏิบัติในเรื่องต่างๆ ที่ผู้ปฏิบัติงานและหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวกับงานพัสดุจำเป็นต้องทราบและยึดถือปฏิบัติให้ถูกต้องในช่วงเวลาเริ่มเข้าสู่การบริหารจัดการงานด้านพัสดุในปีงบประมาณใหม่  พ.ศ. 2568 ที่จะเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2567 เป็นต้นไป เป็นช่วงระยะเวลาที่จะมีการเปลี่ยนถ่ายบุคลากรที่เป็นผู้ปฏิบัติงานด้านการพัสดุในทุกหน่วยงานของภาครัฐ  เพราะมีเจ้าหน้าที่และหัวหน้าเจ้าหน้าที่ คนเดิมเกษียณอายุไป และมีบุคลากรคนใหม่มาปฏิบัติหน้าที่ในฐานะเจ้าหน้าที่และหัวหน้าเจ้าหน้าที่แทนคนเดิม  คนใหม่ที่มาทำหน้าที่แทนส่วนใหญ่จะเป็นคนที่ยังไม่มีความรู้และประสบการณ์ในการปฏิบัติงานจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุมากพอเท่ากับคนเดิมที่เกษียณอายุออกไป หากจะปล่อยให้คนใหม่ปฏิบัติงานไปโดยยังมิได้มีการอบรมเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับลักษณะงานที่ต้องปฏิบัติและขั้นตอนการทำงานในระบบงานที่ต้องมีการฝึกฝนเรียนรู้ให้เข้าใจก่อนปฏิบัติ  (ระบบการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐด้วยอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Government Procurement : e-GP)  รวมทั้งกฎหมายและระเบียบเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารงานพัสดุภาครัฐที่ถูกต้องอาจทำให้เกิดข้อผิดพลาด บกพร่องจนเกิดความเสียหายโดยมิได้ตั้งใจ แต่เกิดเพราะความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน ซึ่งอาจทำให้เกิดผลกระทบต่อการดำเนินงานหรือการให้บริการสาธารณะของหน่วยงานของรัฐได้ สมาคมนักบริหารพัสดุแห่งประเทศไทย จึงจัดสัมมนาทางวิชาการ   ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ระบบออนไลน์ (ZOOM) หัวข้อเรื่อง “การจัดซื้อจัดจ้างและบริหารพัสดุ…สำหรับนักพัสดุมือใหม่” รุ่นที่ 1/2568 ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ระบบออนไลน์ (ZOOM) รวม 2 วัน ระหว่างวันอังคารที่ 14 ถึงวันพุธที่ 15 มกราคม 2568  เพื่อให้ผู้ปฏิบัติงานที่ได้รับการแต่งตั้งให้เป็น “เจ้าหน้าที่” หรือ “หัวหน้าเจ้าหน้าที่” และผู้ที่ได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่เป็น “เจ้าหน้าที่” หรือ “หัวหน้าเจ้าหน้าที่” รับผิดชอบงาน หรือสายงานที่ดูแลเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐของหน่วยงานที่เป็นคนใหม่สำหรับงานด้านการพัสดุที่เข้าร่วมสัมมนาในครั้งนี้ได้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับลักษณะงาน วงจรและขอบเขตของงานด้านการพัสดุ กระบวนการและขั้นตอนการปฏิบัติงานในการจัดซื้อจัดจ้าง และการบริหารพัสดุภาครัฐด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Government Procurement : e-GP) การจัดทำแผนการจัดซื้อจัดจ้างประจำปี การจัดทำร่างขอบเขตของงาน (TOR) หรือรายละเอียดคุณลักษณะเฉพาะของพัสดุหรือแบบรูปรายการงานก่อสร้าง การทำรายงานขอซื้อขอจ้าง ราคากลางของพัสดุที่จะซื้อหรือจ้าง การแต่งตั้งคณะกรรมการซื้อหรือจ้างและหน้าที่ความรับผิดชอบของคณะกรรมการแต่ละคณะ  วิธีการจัดซื้อจัดจ้างและหลักเกณฑ์ เงื่อนไขการเลือกใช้วิธีการซื้อหรือจ้างแต่ละวิธี การกำหนดหลักประกัน การเข้ายื่นเสนอราคา  การประกาศเชิญชวนให้ยื่นข้อเสนอ การเลือกใช้เกณฑ์การคัดเลือกผู้ยื่นข้อเสนอ การประกาศแจ้งผลผู้ชนะการเสนอราคา การแจ้งสิทธิ์อุทธรณ์ การจัดทำสัญญาซื้อขายหรือสัญญาจ้าง การเรียกให้วางหลักประกันสัญญา  การบริหารสัญญา การแก้ไขสัญญา  การงดหรือลดค่าปรับ  การตรวจรับพัสดุหรืองานจ้าง การเบิกจ่ายเงินค่าซื้อขายค่าจ้าง จากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิและมีประสบการณ์ตรง ทั้งจากกรมบัญชีกลาง และจากสมาคมนักบริหารพัสดุแห่งประเทศไทยเป็นผู้บรรยายให้ความรู้ คำแนะนำและตอบคำถามข้อข้องใจแก่ผู้เข้าร่วมสัมมนา

วัตถุประสงค์

  1. เพื่อให้ผู้เข้าร่วมสัมมนาที่เป็น  “เจ้าหน้าที่” หรือ “หัวหน้าเจ้าหน้าที่” มือใหม่  มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับวงจร กระบวนการ และขั้นตอนการจัดซื้อจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐอย่างถูกต้อง

  2. เพื่อให้ผู้เข้าร่วมสัมมนาเข้าใจบทบาทหน้าที่ของตน ในฐานะ “เจ้าหน้าที่” หรือ “หัวหน้าเจ้าหน้าที่” เพื่อให้การปฏิบัติงานเป็นไปโดยถูกต้องตามหลักเกณฑ์และแนวทางวิธีปฏิบัติที่สำคัญในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ               

  3. เพื่อให้ผู้เข้าร่วมสัมมนาได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์  ร่วมแสดงความเห็น  หรือขอคำแนะนำจากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิและมีประสบการณ์ตรงในงานด้านการพัสดุ  ในการแก้ปัญหาข้อข้องใจที่เกิดขึ้นในการปฏิบัติงาน

หัวข้อการสัมมนา    

     เรื่อง “การจัดซื้อจัดจ้างและบริหารพัสดุ…สำหรับนักพัสดุมือใหม่” รุ่นที่ 1/2568 ประกอบด้วย

  1. ทำความรู้จัก การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุ ตามพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 และระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560
  2. ทำความรู้จัก การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุ ผ่านระบบการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐด้วยอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Government Procurement : e-GP) 
  3. หลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการเลือกใช้และการดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างแต่ละวิธี
  4. การทำสัญญา การบริหารสัญญา การตรวจรับพัสดุ การเก็บรักษา และการจำหน่ายพัสดุ

ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ

     ผู้เข้าร่วมสัมมนาสามารถนำความรู้ที่ได้รับถ่ายทอดจากวิทยากรผู้ทรงวุฒิที่มีประสบการณ์โดยตรงในงานจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุในหน่วยงานของรัฐในหัวข้อที่จัดสัมมนาไปใช้ในการปฏิบัติงานได้อย่างถูกต้อง  ไม่ถูกทักท้วงโต้แย้ง  มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล คุ้มค่า และเกิดประโยชน์สูงสุดต่อหน่วยงานของรัฐ  

เอกสาร ที่เกี่ยวข้องของโครงการสัมมนาทางวิชาการ

ลงทะเบียนเข้าร่วมการสัมมนา

 
 
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้เพื่อปรับปรุงประสบการณ์ของผู้ใช้ การใช้เว็บไซต์ของเราแสดงว่าคุณยินยอมให้ใช้คุกกี้ทั้งหมดตามนโยบายคุกกี้ของเรา