เลขอนุญาตที่ ต. 76/2520 เลขคำขอที่ 76/2520

แก้ไขเพิ่มเติมครั้งที่ 1/2548 ทะเบียนเลขที่ จ.1472/2548 ลงวันที่ 5 สิงหาคม 2548

แก้ไขเพิ่มเติมครั้งที่ 2/2550 ทะเบียนเลขที่ จ.1472/2550 ลงวันที่ 27 มิถุนายน 2550

แก้ไขเพิ่มเติมครั้งที่ 3/2554 ทะเบียนเลขที่ จ.1472/2554 ลงวันที่ 12 พฤษภาคม 2554

แก้ไขเพิ่มเติมครั้งที่ 4/2556 ตามทะเบียนเลขที่ จ.1472/2556 ลงวันที่ 11 เมษายน 2556

 

ข้อบังคับ

สมาคมนักบริหารพัสดุแห่งประเทศไทย

 

หมวด 1

ข้อบังคับทั่วไป

ข้อ 1 ชื่อของสมาคม สมาคมนี้ชื่อ “สมาคมนักบริหารพัสดุแห่งประเทศไทย” ใช้อักษรย่อว่า “สพท.” มีชื่อภาษาอังกฤษว่า “The Commodity Management Association of Thailand” ใช้อักษรย่อว่า “CMAT” ซึ่งต่อไปนี้จะเรียกว่าสมาคม

ข้อ 2 เครื่องหมายของสมาคม สมาคมนี้มีเครื่องหมายเป็นรูปวงจรการบริหารพัสดุ ประกอบด้วย วงกลมเล็กทึบ 6 วง สีทอง ตรงกลางมีอักษรย่อว่า สพท.สีทอง ทับอยู่บนวงกลมใหญ่ทึบพื้นสีน้ำเงินเข้ม ขอบรอบนอกสีแดงส่วนบนภายใต้ขอบรอบนอก มีชื่อสมาคมเป็นภาษาไทยและชื่อภาษาอังกฤษอยู่ส่วนล่างสีแดงบนพื้นขาว

(ข้อ 2 แก้ไขเพิ่มเติมครั้งที่ 1/2548 ตามทะเบียนเลขที่ จ.1472/2548 ลงวันที่ 5 สิงหาคม 2548)

ข้อ 3 สำนักงาน สำนักงานของสมาคมนักบริหารพัสดุแห่งประเทศไทย เลขที่ 73 อาคารธุรกิจบัณฑิตย์ ชั้น 2 ห้องที่ 1-2 จากบันไดปีกซ้ายของอาคาร ถนนพระราม 6 แขวงสามเสนใน เขตพญาไท กรุงเทพมหานคร

(ข้อ 3 แก้ไขเพิ่มเติมครั้งที่ 3/2554 ตามทะเบียนเลขที่ จ.1472/2554 ลงวันที่ 12 พฤษภาคม 2554)

หมวด 2

วัตถุประสงค์

ข้อ 4 วัตถุประสงค์ วัตถุประสงค์ของสมาคมมีดังต่อไปนี้

    4.1 เพื่อส่งเสริมการศึกษา และปรับปรุงการประกอบวิชาชีพการบริหารพัสดุให้เป็นไปตามหลักการและวิธีการที่ทันสมัย

    4.2 เพื่อให้ความช่วยเหลือ ร่วมมือในอันที่จะแสวงหาโดยใช้หลักการ และวิธีการที่ถูกต้องตามวิธีการบริหารพัสดุ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพ ประสิทธิผลและประหยัดในการทำงาน

(ข้อ 4.1, 4.2 แก้ไขเพิ่มเติมครั้งที่ 1/2548 ตามทะเบียนเลขที่ จ.1472/2548 ลงวันที่ 5 สิงหาคม 2548)

    4.3 เพื่อเป็นศูนย์กลางแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในการพัฒนาและเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับการ บริหารพัสดุ จัดการสัมมนาและฝึกอบรมให้กับส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจหรือสถาบัน องค์การ หรือบุคคลทั่วไป ในอันที่จะสนับสนุนการบริหารพัสดุด้วยวิธีการที่ไม่ขัดต่อกฎหมายและ ระเบียบข้อบังคับของสมาคม

    4.4 ให้บริการที่ปรึกษาการบริหารงานพัสดุและงานอื่นที่เกี่ยวข้อง แก่ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ องค์กรของรัฐ องค์กรอิสระ ตลอดจนบริษัท ห้าง ร้าน ภาคเอกชนและบุคคลต่าง ๆ

    4.5 เพื่อเป็นศูนย์กลางติดต่อกับส่วนราชการ สถาบัน องค์การสมาคมและหน่วยงานต่าง ๆ ที่ เกี่ยวข้องกับการบริหารพัสดุ ซึ่งมีวัตถุประสงค์สอดคล้องกับข้อบังคับของสมาคม ทั้งใน และนอกประเทศ

    4.6 เพื่อส่งเสริมความสามัคคีและสวัสดิการของสมาชิก

    4.7 เพื่อดำเนินการอื่นใดที่ไม่ขัดต่อกฎหมาย ระเบียบข้อบังคับ ขนบธรรมเนียม ประเพณี ศีลธรรม วัฒนธรรมอันดีงาม และสนับสนุนให้การดำเนินงานของสมาคมบรรลุความสำเร็จ ตามประสงค์

    4.8 สมาคมนี้ไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง

(ข้อ 4.3 – 4.8 แก้ไขเพิ่มเติมครั้งที่ 2/2550 ทะเบียนเลขที่ จ.1472/2550 ลงวันที่ 27 มิถุนายน 2550)

หมวด 3

สมาชิกภาพ

ข้อ 5 ประเภทสมาชิก สมาชิกแบ่งออกเป็น 3 ประเภท คือสมาชิกสามัญ สมาชิกสถาบัน และสมาชิกกิตติมศักดิ์

    5.1 สมาชิกสามัญ ได้แก่

        (ก) ผู้ที่ผ่านการอบรมทางด้านการบริหารพัสดุ จากสถาบันฝึกอบรม และปรับปรุงการบริหารสำนักงบประมาณ จากสมาคมนี้ หรือจากสถาบันอื่น ๆ

        (ข) วิทยากร หรืออาจารย์ผู้บรรยายหลักสูตรการบริหารพัสดุ จากสถาบันฝึกอบรมและปรับปรุงการบริหารสำนักงบประมาณ จากสมาคมนี้ หรือจากสถาบันอื่น

        (ค) วิทยากรผู้บรรยายในการจัดฝึกอบรมสัมมนาที่สมาคมจัดขึ้น

        (ง) ผู้ที่ปฏิบัติหน้าที่ในสายงานการบริหารพัสดุ

        (จ) ผู้ที่มีความสนใจในกิจกรรมของสมาคม และการบริหารพัสดุ

(ข้อ 5.1 แก้ไขเพิ่มเติมครั้งที่ 1/2548 ตามทะเบียนเลขที่ จ.1472/2548 ลงวันที่ 5 สิงหาคม 2548)

    5.2 สมาชิกสถาบัน ได้แก่ สถาบัน องค์การ สมาคม หน่วยราชการ รัฐวิสาหกิจ และบริษัท ห้าง หุ้นส่วนที่เป็นนิติบุคคล

(ข้อ 5.2 แก้ไขเพิ่มเติมครั้งที่ 2/2550 ทะเบียนเลขที่ จ.1472/2550 ลงวันที่ 27 มิถุนายน 2550)

    5.3 สมาชิกกิตติมศักดิ์ ได้แก่ ผู้ที่คณะกรรมการบริหารสมาคม พิจารณาเห็นว่า มีคุณสมบัติเหมาะสม และสมควรที่จะได้รับเชิญเข้าเป็นสมาชิก โดยมีมติเป็นเอกฉันท์ให้เชิญเข้ามาเป็นสมาชิกกิตติมศักดิ์

(ข้อ 5.3 แก้ไขเพิ่มเติมครั้งที่ 1/2548 ตามทะเบียนเลขที่ จ.1472/2548 ลงวันที่ 5 สิงหาคม 2548)

ข้อ 6 การสมัครและรับเข้าเป็นสมาชิก

    6.1 ให้ผู้มีความประสงค์ที่จะสมัครเป็นสมาชิก ยื่นใบสมัครตามแบบที่ทางสมาคมกำหนดพร้อม ชำระเงินค่าลงทะเบียนและค่าบำรุงสมาชิกภาพของผู้สมัครบริบูรณ์ทันที  ให้นายทะเบียน นำรายชื่อสมาชิกใหม่ตามความวรรคแรกเสนอคณะ กรรมการบริหารรับทราบ

    6.2 ให้นายทะเบียนแจ้งสมาชิกตามข้อ 6.1 ทราบและประกาศชื่อไว้ ณ สำนักงานของสมาคม ไม่น้อยกว่า 15 วัน หรือแจ้งให้สมาชิกทราบทางสิ่งพิมพ์ของสมาคม

(ข้อ 6 แก้ไขเพิ่มเติมครั้งที่ 2/2550 ทะเบียนเลขที่ จ.1472/2550 ลงวันที่ 27 มิถุนายน 2550)

ข้อ 7 ค่าลงทะเบียนและค่าบำรุง

    7.1 ค่าลงทะเบียนสมัครเป็นสมาชิก 20.00 บาท

    7.2 ค่าบำรุงสมาชิกสามัญปีละ 200.00 บาท

          ค่าบำรุงสมาชิกสามัญตลอดชีพ 5,000.00 บาท

    7.3 ค่าบำรุงสมาชิกสถาบันปีละ 1,000.00 บาท

          ค่าบำรุงสมาชิกสถาบันตลอดชีพ 25,000.00 บาท

 ทั้งนี้ให้ถือปฏิบัติจนกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น

(ข้อ 7 แก้ไขเพิ่มเติมครั้งที่ 4/2556 ตามทะเบียนเลขที่ จ.1472/2556 ลงวันที่ 11 เมษายน 2556)

ข้อ 8 สิทธิและหน้าที่ของสมาชิก

    8.1 สมาชิกมีสิทธิประดับเครื่องหมายของสมาคมที่สมาคมกำหนดขึ้นได้

    8.2 สมาชิกมีสิทธิได้รับการบริการตามที่สมาคมกำหนดขึ้น

(ข้อ 8.1-8.2 แก้ไขเพิ่มเติมครั้งที่ 1/2548 ตามทะเบียนเลขที่ จ.1472/2548 ลงวันที่ 5 สิงหาคม 2548)

    8.3 สมาชิกสามัญและสถาบันเท่านั้นมีสิทธิออกเสียงลงคะแนนเลือกตั้งคณะกรรมการบริหาร และสมาชิกสถาบันมีสิทธิลงคะแนนได้ 1 เสียง

(ข้อ 8.3 แก้ไขเพิ่มเติมครั้งที่ 2/2550 ทะเบียนเลขที่ จ.1472/2550 ลงวันที่ 27 มิถุนายน 2550)

    8.4 สมาชิกสามัญเท่านั้นมีสิทธิได้รับการเลือกตั้ง หรือแต่งตั้งเป็นกรรมการบริหาร

    8.5 สมาชิกมีสิทธิเสนอความคิดเห็นเกี่ยวกับการดำเนินงานของสมาคมต่อกรรมการบริหาร

    8.6 สมาชิกมีสิทธิเข้าร่วมประชุมใหญ่ ร่วมการสัมมนา ร่วมทำกิจกรรมที่ทางสมาคมจัดขึ้น

    8.7 สมาชิกมีหน้าที่ปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับของสมาคม

    8.8 สมาชิกมีหน้าที่ส่งเสริมและร่วมมือในกิจกรรมของสมาคม

(ข้อ 8.4-8.8 แก้ไขเพิ่มเติมครั้งที่ 1/2548 ตามทะเบียนเลขที่ จ.1472/2548 ลงวันที่ 5 สิงหาคม 2548)

    8.9 สมาชิกมีหน้าที่แจ้งการเปลี่ยนแปลงสถานภาพต่างๆ สถานที่อยู่ และสถานที่ติดต่อให้นาย ทะเบียนทราบเป็นลายลักษณ์อักษร เพื่อแก้ไขทะเบียน ภายใน 1 เดือน

(ข้อ 8.9 แก้ไขเพิ่มเติมครั้งที่ 2/2550 ทะเบียนเลขที่ จ.1472/2550 ลงวันที่ 27 มิถุนายน 2550)

ข้อ 9 การพ้นจากสมาชิกภาพ สมาชิกจะสิ้นสุดการเป็นสมาชิกภาพ ต่อเมื่อ

    9.1 ตาย

    9.2 ลาออก

    9.3 ถูกศาลสั่งให้เป็นบุคคลล้มละลาย ไร้ความสามารถ หรือเสมือนไร้ความสามารถ

    9.4 มีความประพฤติเสียหาย อันนำความเสื่อมเสียมาสู่ส่วนรวม หรือไม่ปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับของสมาคม ซึ่งที่ประชุมคณะกรรมการบริหารลงมติให้พ้นจากสมาชิกภาพด้วยคะแนนเสียงข้างมาก

    9.5 ไม่ชำระค่าบำรุงติดต่อกันเป็นเวลา 3 ปี เว้นแต่สมาชิกจะได้แจ้งความจำเป็นให้สมาคมทราบเป็นหนังสือ

ผู้ที่พ้นจากสมาชิกภาพยังต้องรับผิดชอบในค่าบำรุงและหนี้สินต่าง ๆ ที่ยังค้างชำระต่อสมาคม และอาจจะกลับเข้าเป็นสมาชิกใหม่ได้ แต่ทั้งนี้ ต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการบริหารเสียก่อนและต้องชำระค่าบำรุงสมาชิกตามระเบียบเรียบร้อยแล้ว

(ข้อ 9 แก้ไขเพิ่มเติมครั้งที่ 1/2548 ตามทะเบียนเลขที่ จ.1472/2548 ลงวันที่ 5 สิงหาคม 2548)

หมวด 4

การบริหารสมาคม

ข้อ 10 คณะกรรมการบริหาร

    10.1 ให้มีคณะกรรมการบริหารสมาคม จำนวนรวม 17 คน เลือกตั้งโดยที่ประชุมใหญ่จาก สมาชิกสามัญทุก 2 ปี เป็นจำนวน 9 คน แล้วให้ผู้ที่ได้รับเลือกตั้งทั้ง 9 คนพิจารณา

คัดเลือก กันเองเป็นนายกสมาคม 1 คนและอุปนายกสมาคมคนที่ 1 และ 2 ตามลำดับก่อน ส่วนที่เหลืออีก 8 คน ให้นายกสมาคมพิจารณาแต่งตั้งจากสมาชิกสามัญให้ครบจำนวน โดยเร็ว

(ข้อ 10.1 แก้ไขเพิ่มเติมครั้งที่ 2/2550 ทะเบียนเลขที่ จ.1472/2550 ลงวันที่ 27 มิถุนายน 2550)

    10.2 คณะกรรมการบริหารสมาคม 17 คน ประกอบด้วยนายกสมาคม อุปนายกสมาคมคนที่ 1  อุปนายกสมาคมคนที่ 2 นายทะเบียน ผู้ช่วยนายทะเบียน เหรัญญิก ผู้ช่วยเหรัญญิก  ปฏิคม ประชาสัมพันธ์ สาราณียกร เลขานุการ ผู้ช่วยเลขานุการ และกรรมการอื่น ๆ

    10.3 ให้นายกสมาคมฯ ทำหน้าที่เป็นหัวหน้าในการบริหารกิจการของสมาคมฯ เป็นผู้แทนสมาคมฯ ในการติดต่อกับบุคคลภายนอก และทำหน้าที่เป็นประธานในที่ประชุมคณะกรรมการและการประชุมใหญ่สมาคมฯ

    10.4 ให้อุปนายกสมาคม ทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยนายกสมาคมฯ ในการบริหารกิจการของสมาคม ปฏิบัติการอื่นตามที่นายกสมาคมมอบหมาย และทำหน้าที่แทนนายกสมาคม เมื่อนายกสมาคมฯ ไม่อยู่หรือไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ การทำหน้าที่แทนนายกสมาคม ให้อุปนายกสมาคม ตามลำดับตำแหน่งเป็นผู้กระทำการแทน

    10.5 หากประธานและรองประธานไม่อยู่ในที่ประชุม หรือไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้ที่ประชุมพิจารณาเลือกกรรมการอื่นที่มีอาวุโสรองลงมาปฏิบัติหน้าที่แทน

    10.6 ให้นายทะเบียน มีหน้าที่เกี่ยวกับทะเบียนสมาชิกของสมาคมฯ ประสานกับเหรัญญิกในการเรียกเก็บเงินค่าบำรุงของสมาคม หรือเงินค่าดำเนินงานในกิจกรรมต่าง ๆ ของสมาคมจากสมาชิกและผู้เกี่ยวข้องแล้วแต่กรณี และจัดทำบัญชีพัสดุของสมาคมทั้งหมด

ทั้งนี้ ให้ผู้ช่วยนายทะเบียน เป็นผู้ช่วยและทำหน้าที่ตามที่นายทะเบียนมอบหมาย

    10.7 ให้เหรัญญิก มีหน้าที่เกี่ยวกับการเงินทั้งหมดของสมาคมฯ เป็นผู้จัดทำบัญชีรายรับรายจ่ายบัญชีงบดุลของสมาคม ตามหลักบัญชีสากล การจัดทำรายงานทางการเงินประจำเดือนการจัดเก็บเอกสารหลักฐานต่าง ๆ เกี่ยวกับการเงินของสมาคมฯ ไว้เพื่อตรวจสอบและเป็นหลักฐาน

ทั้งนี้ ให้ผู้ช่วยเหรัญญิก เป็นผู้ช่วยและทำหน้าที่ตามที่เหรัญญิกมอบหมาย

    10.8 ให้ปฏิคม มีหน้าที่ในการประสานงานการจัดเตรียมสถานที่ประชุม และเป็นพิธีกร ในงานต่าง ๆ ของสมาคม เว้นแต่มีพิธีกรเฉพาะในการประชุมหรือกิจกรรมนั้น ๆ

    10.9 ให้ประชาสัมพันธ์ มีหน้าที่เผยแพร่กิจการและชื่อเสียงเกียรติคุณของสมาคม แก่สมาชิกและบุคคลทั่วไป โดยวิธีการที่เหมาะสม

    10.10 ให้สาราณียกร มีหน้าที่ตรวจสอบและจัดทำสิ่งพิมพ์ความรู้เกี่ยวกับพัสดุและเรื่องที่เกี่ยวข้อง เหมาะสม ไม่ขัดต่อกฎหมาย จริยธรรม และศีลธรรมอันดี เพื่อเผยแพร่กับสมาชิกและบุคคลทั่วไป

    10.11 ให้เลขานุการ มีหน้าที่เกี่ยวกับงานบริหารทั่วไป งานธุรการต่าง ๆ ทั้งหมด การจัดเตรียมสถานที่ประชุม คณะกรรมการบริหาร และปฏิบัติตามคำสั่งนายกสมาคม เป็นเลขานุการในการประชุมต่าง ๆ ของสมาคมเว้นแต่มีเลขานุการในการประชุมต่างหากในครั้งนั้น ๆ การจัดทำรายงานการประชุม งานอื่น ๆ ซึ่งมิได้กำหนดเป็นหน้าที่ของกรรมการอื่นไว้ งานอื่น ๆ ที่นายกสมาคมหรืออุปนายกสมาคมมอบหมาย

ทั้งนี้ ให้ผู้ช่วยเลขานุการ เป็นผู้ช่วยและทำหน้าที่ตามที่เลขานุการมอบหมาย

(ข้อ 10.2 – 10.11 แก้ไขเพิ่มเติมครั้งที่ 1/2548 ตามทะเบียนเลขที่ จ.1472/2548 ลงวันที่ 5 สิงหาคม 2548)

ข้อ 11 อำนาจและหน้าที่ของคณะกรรมการบริหาร

    11.1 กำหนดนโยบายโดยไม่ขัดต่อวัตถุประสงค์ของสมาคม

    11.2 บริหารกิจการของสมาคมให้เป็นไปตามนโยบายและวัตถุประสงค์

    11.3 ออกระเบียบต่าง ๆ เกี่ยวกับการดำเนินงานของสมาคมโดยไม่ขัดต่อข้อบังคับ

    11.4 แต่งตั้งบุคคลเข้าร่วมเป็นกรรมการที่ปรึกษา คณะอนุกรรมการ เพื่อเข้าร่วมดำเนินกิจการของสมาคม และให้มีอำนาจถอดถอนได้ตามที่เห็นสมควร

    11.5 ให้พิจารณาเรียนเชิญบุคคลเข้าเป็นสมาชิกกิตติมศักดิ์ ตามที่เห็นสมควร

    11.6 มีอำนาจจ้างและเลิกจ้างบุคคลเข้าปฏิบัติงานของสมาคมตามแต่จะเห็นสมควร

    11.7 รับทราบการเข้าเป็นสมาชิก หรือการสิ้นสุดแห่งสมาชิกภาพตามที่ระบุไว้ในข้อบังคับ

    11.8 กำหนดตำแหน่งกรรมการในตำแหน่งอื่น ๆ ที่ยังมิได้กำหนดไว้ในข้อบังคับได้

    11.9 ตีความตามข้อบังคับ

(ข้อ 11 แก้ไขเพิ่มเติมครั้งที่ 1/2548 ตามทะเบียนเลขที่ จ.1472/2548 ลงวันที่ 5 สิงหาคม 2548)

ข้อ 12 การดำเนินงาน

    12.1 ให้คณะกรรมการบริหารมีการประชุมอย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง เพื่อปรึกษาหารือและพิจารณาปัญหาต่าง ๆ เกี่ยวกับกิจการของสมาคม

    12.2 หากกรรมการบริหารผู้ใดขาดการประชุม 3 ครั้งต่อเนื่องกันโดยไม่แจ้งให้คณะกรรมการบริหารทราบ ให้ถือว่าขาดจากหน้าที่

    12.3 อายุของคณะกรรมการบริหาร ให้ดำรงตำแหน่งอยู่ได้สมัยละ 2 ปี และอาจได้รับเลือกตั้งให้ดำรงตำแหน่งในสมัยต่อไปต่อเนื่องกันได้อีก แต่ไม่เกิน 2 สมัยติดต่อกัน

ข้อ 13 การพ้นจากตำแหน่งของคณะกรรมการบริหาร กรรมการบริหารจะพ้นจากตำแหน่งหน้าที่ ในกรณีต่อไปนี้

    13.1 ครบวาระ

    13.2 ลาออก

    13.3 การพ้นจากสมาชิกภาพตามข้อ 9

    13.4 ขาดการประชุมตามข้อ 12.2

    13.5 พ้นจากตำแหน่งเป็นรายบุคคล หรือทั้งคณะโดยมติของที่ประชุมใหญ่ออกเสียง มีจำนวนไม่ต่ำกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกที่มาประชุมและให้สมาชิกที่มาประชุมออกเสียงเลือกตั้งคณะกรรมการบริหาร หรือคณะกรรมการบริหารชุดใหม่ จากสมาชิกสามัญขึ้นแทนทันที ตามข้อ 10.1 โดยให้ดำรงตำแหน่ง จนครบวาระ

    13.6 ในกรณีที่นายกสมาคมลาออก หรือพ้นจากตำแหน่งหน้าที่ด้วยเหตุใด ๆ ก็ตามให้อุปนายกสมาคม คนที่ 1 เข้าดำรงตำแหน่งแทน

(ข้อ 13.1 – 13.6 แก้ไขเพิ่มเติมครั้งที่ 1/2548 ตามทะเบียนเลขที่ จ.1472/2548 ลงวันที่ 5 สิงหาคม 2548)

    13.7 เมื่อกรรมการบริหารที่ได้รับเลือกตั้งพ้นจากตำแหน่ง เป็นรายบุคคลโดยมิใช่การพ้น ตำแหน่งตามข้อ 13.5 ให้นายกสมาคมแต่งตั้งบุคคลที่ได้รับคะแนนเลือกตั้งลำดับรองลง ไปเข้าดำรงตำแหน่งแทนและเช่นเดียวกันเมื่อกรรมการบริหารที่ได้รับการแต่งตั้งพ้นจาก ตำแหน่งเป็นรายบุคคลให้นายกสมาคมพิจารณาแต่งตั้งบุคคลเข้าดำรงตำแหน่งแทนโดยเร็ว แต่ผู้ดำรงตำแหน่งแทนอยู่ในตำแหน่งได้เท่ากับวาระของบุคคลที่ตนแทนเท่านั้น

    13.8 ในกรณีที่กรรมการบริหารที่ได้รับการเลือกตั้งตามข้อ 10.1 ลาออกถึงจำนวน 9 คนให้คณะ กรรมการบริหารทั้งคณะพ้นจากตำแหน่ง ในระหว่างนั้น ให้คณะกรรมการบริหารที่ขอ ลาออกรักษาการไปพลางก่อน และรีบจัดการเลือกตั้งคณะกรรมการบริหารสมาคมตาม ข้อ 10.1 ภายใน 30 วัน นับถัดจากวันลาออก

    13.9 ในกรณีที่กรรมการบริหารหรือคณะกรรมการบริหารพ้นจากตำแหน่งหน้าที่ด้วยเหตุใดก็ตาม ให้กรรมการบริหารหรือคณะกรรมการบริหารชุดเดิมรักษาการไปพลางก่อน จนกว่าจะมี กรรมการบริหารหรือคณะกรรมการบริหารชุดใหม่มารับหน้าที่แทน ซึ่งต้องมอบหมายงาน ให้แก่กันให้เสร็จสิ้นไปโดยเร็ว นับแต่วันที่ได้รับทราบ

ระหว่างเวลาก่อนนายทะเบียนรับจดทะเบียนคณะกรรมการบริหารชุดใหม่ ให้ คณะกรรมการบริหารชุดเดิมรักษาการไปพลางก่อน เมื่อนายทะเบียนรับจดทะเบียนแล้วรีบ มอบหมายงานให้คณะกรรมการชุดใหม่รับบริหารงานสืบแทนต่อไปโดยไม่ชักช้า เฉพาะ ระยะเวลาการดำรงตำแหน่งตามวาระเป็นเวลา 2 ปี ของคณะกรรมการชุดใหม่ให้นับ ย้อนหลังกลับนับแต่วันเลือกตั้งมิใช่เริ่มนับแต่วันที่นายทะเบียนรับจดทะเบียน

(ข้อ 13.7-13.9 แก้ไขเพิ่มเติมครั้งที่ 2/2550 ทะเบียนเลขที่ จ.1472/2550 ลงวันที่ 27 มิถุนายน 2550)

หมวด 5

การประชุม

ข้อ 14 องค์ประชุม องค์ประชุมคณะกรรมการบริหารต้องมีกรรมการบริหารเข้าร่วมประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง มติที่ประชุมให้ถือเสียงข้างมาก หากคะแนนเสียงเท่ากัน ให้ประธานเป็นผู้ออกเสียงชี้ขาด

ข้อ 15 การประชุมใหญ่ ให้มีการประชุมใหญ่สามัญ ปีละ 1 ครั้ง หลังจากสิ้นปีปฏิทินแล้วภายใน 90 วัน เพื่อรับทราบและพิจารณาการดำเนินงานของสมาคม ดังต่อไปนี้

    15.1 กรรมการบริหารแถลงผลงานและแสดงทรัพย์สินของสมาคม

    15.2 เหรัญญิกเสนองบดุล

    15.3 เลือกตั้งคณะกรรมการชุดใหม่เมื่อถึงกำหนดตามวาระ ที่กล่าวไว้ในข้อ 12.3

    15.4 แต่งตั้งผู้สอบบัญชี

(ข้อ 15 แก้ไขเพิ่มเติมครั้งที่ 1/2548 ตามทะเบียนเลขที่ จ.1472/2548 ลงวันที่ 5 สิงหาคม 2548)

ข้อ 16 องค์ประชุมใหญ่ การประชุมใหญ่สามัญ จะต้องมีสมาชิกเข้าร่วมประชุมไม่น้อยกว่า 51 คน จึงจะครบองค์ประชุม มติที่ประชุมให้ถือคะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกที่เข้าร่วมประชุม

ข้อ 17 การนัดประชุม การนัดประชุมใหญ่สามัญประจำปี ให้ทำเป็นหนังสือส่งตรงไปยังสมาชิกของสมาคมไม่น้อยกว่า 15 วัน ก่อนถึงวันประชุม

ถ้าการประชุมครั้งแรกไม่ครบองค์ประชุม ให้เลขานุการนัดประชุมใหม่เป็นครั้งที่สอง โดยแจ้งเป็นหนังสือให้สมาชิกทราบภายใน 10 วัน นับจากการนัดประชุมครั้งแรก ในการประชุมครั้งที่สองนี้ ไม่ว่าสมาชิกจะมาจำนวนเท่าใดก็ให้ถือเป็นองค์ประชุมได้

ข้อ 18 การเลือกตั้งกรรมการบริหาร ในการประชุมใหญ่เพื่อเลือกตั้งกรรมการบริหาร ให้สมาชิกที่ประชุมเสนอแต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินการเลือกตั้งขึ้นคณะหนึ่งไม่เกิน 3 คน และให้ประกาศผลของการเลือกตั้ง หลังจากนับคะแนนเรียบร้อยแล้ว

ในกรณีที่มีผู้ได้รับคะแนนเสียงเท่ากัน ให้ดำเนินการจับสลากเพื่อตัดสินผู้ได้รับเลือกตั้ง การเลือกตั้งดังกล่าว ให้เสนอชื่อผู้รับเลือกตั้งไว้ไม่น้อยกว่า 15 คน เพื่อไว้เป็นกรรมการบริหารสำรอง ในกรณีที่กรรมการบริหารที่ได้รับการเลือกตั้งพ้นจากตำแหน่ง

(ข้อ 18 แก้ไขเพิ่มเติมครั้งที่ 1/2548 ตามทะเบียนเลขที่ จ.1472/2548 ลงวันที่ 5 สิงหาคม 2548)

ข้อ 19 การประชุมวิสามัญ การประชุมวิสามัญจะครบองค์ประชุมต้องมีสมาชิกมาประชุมไม่น้อยกว่า 51 คน และจะกระทำได้ในกรณีดังต่อไปนี้

    19.1 คณะกรรมการบริหาร เห็นสมควรให้มีการประชุมวิสามัญ  การนัดสมาชิกประชุมวิสามัญนี้ ให้ดำเนินการตามวิธีการเรียกประชุมใหญ่ ที่ได้ระบุไว้แล้ว

    19.2 เมื่อสมาชิกไม่น้อยกว่า 51 คน เข้าชื่อกันร้องขอและแจ้งวัตถุประสงค์ในการประชุม ให้คณะกรรมการนัดประชุม ภายใน 15 วัน นับตั้งแต่วันที่ได้รับหนังสือร้องขอดังกล่าว

การประชุมนี้สมาชิกผู้เข้าชื่อร้องขอต้องมาประชุมไม่น้อยกว่า 4 ใน 5 ของผู้เข้าชื่อทั้งหมด มิฉะนั้นจะไม่ถือว่าเป็นการประชุม

การประชุมให้มีการปรึกษาหารือและมีมติได้เฉพาะเรื่องที่แจ้งวัตถุประสงค์เท่านั้น

หมวด 6

การเงินและทรัพย์สิน

ข้อ 20 รายได้สมาคม สมาคมมีรายได้เพื่อดำเนินการและกิจการดังต่อไปนี้

    20.1 ค่าลงทะเบียนและค่าบำรุงสมาชิก

    20.2 เงิน หรือทรัพย์สินช่วยเหลือและบริจาค

    20.3 รายได้อื่น ๆ

(ข้อ 20 แก้ไขเพิ่มเติมครั้งที่ 1/2548 ตามทะเบียนเลขที่ จ.1472/2548 ลงวันที่ 5 สิงหาคม 2548)

ข้อ 21 การเงินของสมาคม

    21.1 การเงินและทรัพย์สินของสมาคมทั้งหมด ให้อยู่ในความรับผิดชอบของคณะกรรมการบริหารเงินทุกประเภทของสมาคมต้องนำไปฝากธนาคารหรือสถาบันการเงินที่เชื่อถือได้ ในบัญชีของสมาคมโดยคณะกรรมการบริหารเห็นชอบแล้ว เว้นแต่เงินบริจาค ที่ได้กำหนดเงื่อนไขไว้เป็นอย่างอื่นระเบียบการใช้จ่ายเงินต่าง ๆ ของสมาคม ให้คณะกรรมการบริหารเป็นผู้กำหนดขึ้น ตามความจำเป็น หากยังมิได้กำหนด ให้อาศัยหลักระเบียบของทางราชการปฏิบัติไปโดยอนุโลมก่อน แล้วรีบกำหนดระเบียบในเรื่องนั้น ๆ ขึ้นโดยเร็ว หรือคณะกรรมการบริหาร ลงมติเห็นชอบเป็นรายเรื่องไปก่อนได้

การซื้อพันธบัตรของรัฐบาลจะกระทำได้โดยมติของคณะกรรมการบริหาร

(ข้อ 21.1 แก้ไขเพิ่มเติมครั้งที่ 1/2548 ตามทะเบียนเลขที่ จ.1472/2548 ลงวันที่ 5 สิงหาคม 2548)

    21.2 อำนาจในการสั่งจ่ายเงิน

        (1) ให้นายกสมาคมมีอำนาจอนุมัติก่อหนี้ผูกพันจ่ายเงินในกิจการของสมาคมตามวัตถุ ประสงค์ได้ครั้งละไม่เกิน 100,000 บาท (หนึ่งแสนบาทถ้วน) ถ้าเกินกว่านั้นให้ขอ ความเห็นจากคณะกรรมการบริหาร

        (2) เหรัญญิกมีอำนาจเก็บรักษาเงินสดไว้ในความรับผิดชอบไม่เกิน 50,000 บาท (ห้า หมื่นบาทถ้วน) ในกรณีที่จำเป็นเร่งด่วนให้ทดรองจ่ายได้ครั้งละไม่เกิน 30,000 บาท (สามหมื่นบาทถ้วน) แล้วนำเสนอขออนุมัติต่อนายกสมาคม

        (3) การจ่ายเงินโดยปกติให้ใช้ตั๋วเงิน หรือเช็คของสมาคม ต้องมีลายมือชื่อนายกสมาคม หรืออุปนายกสมาคม และเหรัญญิกพร้อมทั้งประทับตราของสมาคมด้วยทุกครั้งจึง จะถือว่าใช้ได้ เว้นแต่การจ่ายเงินครั้งละไม่เกิน 50,000 บาทจะจ่ายเป็นเงินสดก็ได้

 (ข้อ 21.2 แก้ไขเพิ่มเติมครั้งที่ 2/2550 ทะเบียนเลขที่ จ.1472/2550 ลงวันที่ 27 มิถุนายน 2550)

ข้อ 22 การบัญชี งบดุล และทรัพย์สินของสมาคม

    22.1 วันสิ้นปีทางบัญชีของสมาคมให้เป็นไปตามปีปฏิทิน

    22.2 การทำงบดุล ให้เหรัญญิกเป็นผู้รับผิดชอบจัดทำงบดุล และงบรายได้ และค่าใช้จ่ายตามหลักบัญชีสากล ดังที่เป็นอยู่ในวันสิ้นปีทางบัญชี เพื่อให้ผู้ตรวจสอบบัญชีตรวจสอบและรับรอง

และนำเสนอที่ประชุมใหญ่สามัญประจำปี ทุกครั้งต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อของนายกสมาคมร่วมกับเหรัญญิก

    22.3 ให้นายทะเบียนเป็นผู้รับผิดชอบสำรวจจัดทำบัญชีพัสดุของสมาคม เพื่อเสนอนายกสมาคมก่อนการประชุมใหญ่สามัญประจำปีทุกครั้ง โดยให้ถือปฏิบัติตามระเบียบการบริหารพัสดุของทางราชการโดยอนุโลม

    22.4 หลักฐานการเงินจะต้องเก็บรักษาไว้เป็นเวลาไม่น้อยกว่า 10 ปี

หมวด 7

การแก้ไขข้อบังคับ

ข้อ 23 การแก้ไขเพิ่มเติม หรือเปลี่ยนแปลงข้อบังคับนี้ ทำได้โดยมติของที่ประชุมใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นการประชุมใหญ่สามัญ หรือวิสามัญ และต้องได้รับความเห็นชอบด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของจำนวนสมาชิกที่เข้าร่วมประชุมข้อเสนอขอแก้ไขเพิ่มเติมหรือเปลี่ยนแปลงข้อบังคับนี้ ต้องประกาศและแจ้งให้สมาชิกทราบก่อนการประชุมไม่น้อยกว่า 15 วัน

(ข้อ 22,23 แก้ไขเพิ่มเติมครั้งที่ 1/2548 ตามทะเบียนเลขที่ จ.1472/2548 ลงวันที่ 5 สิงหาคม 2548)

หมวด 8

การเลิกสมาคม

ข้อ 24 เมื่อที่ประชุมใหญ่ลงมติ ด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมด ให้เลิกกิจการของสมาคม เป็นอันเลิกสมาคมได้

ในกรณีที่สมาคมจะต้องล้มเลิกไปด้วยกรณีใดก็ตาม ทรัพย์สินที่ยังเหลืออยู่ทั้งหมดหลังจากได้ชำระบัญชีแล้วให้โอนแก่องค์การสาธารณกุศลหนึ่ง สาธารณกุศลใด ซึ่งมีฐานะเป็นนิติบุคคลตามที่ที่ประชุมใหญ่ได้พิจารณาเห็นสมควร

(ข้อ 24 แก้ไขเพิ่มเติมครั้งที่ 2/2550 ทะเบียนเลขที่ จ.1472/2550 ลงวันที่ 27 มิถุนายน 2550)

หมวด 9

บทเฉพาะกาล

ข้อ 25 หากมีการแก้ไขข้อบังคับเพิ่มจำนวนกรรมการบริหารสมาคม ให้นายกสมาคมพิจารณา